ปัจจัยในการเลือกซื้อประกันสุขภาพ

การเจ็บป่วยจากโรคภัยต่างๆ เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกหนีได้ อีกทั้งยังนำมาซึ่งภาระค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาล การทำประกันสุขภาพจึงเป็นเหมือนเกราะป้องกันภัยจากค่ารักษาที่ดีที่สุด คุณจึงต้องเลือกประกันสุขภาพอย่างละเอียด ครอบคลุมตั้งเเต่การป่วยธรรมดาจนถึงโรคร้ายเเรง บทความนี้จึงมาเเนะนำการเลือกประกันสุขภาพที่เหมาะสมให้กับคุณ

การเลือกซื้อประกันสุขภาพเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงทั้งด้านสุขภาพเเละด้านการเงินในเวลาเดียวกัน เพราะถ้าเกิดเหตุไม่คาดคิดเพียงครั้งเดียว อาจทำให้เงินเก็บที่คุณสะสมมาหลายปีหายไปในพริบตา เราจึงต้องเลือกประกันที่ครอบคลุมตั้งเเต่ป่วยเล็กน้อยจนถึง ‘ทุพพลภาพ’ คือไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ ก่อนอื่นคุณต้องสำรวจสุขภาพร่างกายเเละสุขภาพการเงินให้ชัดเจน เพื่อนำข้อมูลไปเลือกประกันสุขภาพที่คุ้มค่าต่อชีวิตคุณมากที่สุด โดยปัจจัยสำคัญในการเลือกประกันสุขภาพมีดังนี้

1. เบี้ยประกัน
เบี้ยประกันคือเงินที่คุณจ่ายให้กับบริษัทประกันเพื่อซื้อความคุ้มครอง ทั้งนี้โดยมากแล้วอัตราค่าเบี้ยประกันสุขภาพจะปรับเปลี่ยนไปตามอายุ ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงในแต่ละช่วงอายุ เช่น ตอนเด็กค่าเบี้ยประกันสูงเพราะเด็กมีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคต่างๆ ได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ หรือวัยชราก็มีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่ายเช่นกัน

นอกจากเรื่องอายุแล้ว เพศ สุขภาพ อาชีพ การดำเนินชีวิต จำนวนผู้เอาประกันภัย (กรณีประกันภัยกลุ่ม) ก็เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเบื้ยประกัน ซึ่งเบี้ยประกันสุขภาพที่เหมาะสมควรจ่ายไม่เกิน 10-15% ของรายได้รวมทั้งปี เช่น มีรายได้ต่อเดือน 15,000 บาท หนึ่งปีจะมีรายได้รวม 180,000 บาท เมื่อคิดค่าเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่ายในหนึ่งปีที่ 10% คิดเป็นเงิน 18,000 บาทต่อปี หรือถ้ารับได้ที่ 15% ก็จะคิดเป็นเงิน 27,000 บาทต่อปี

ถ้าคุณต้องจ่ายมากกว่านี้มีสิทธิ์ที่ประกันสุขภาพจะไม่คุ้มกับเงินที่จ่ายไป เเละเบี้ยประกันอาจจะปรับขึ้นทุกๆ ปี ฉะนั้นก่อนเลือกซื้อประกันสุขภาพควรดูตารางค่าเบี้ยประกันตลอดอายุสัญญา ว่าเหมาะสมกับรายรับเเละค่าใช้จ่ายที่คุณมีหรือไม่ (บทความแนะนำเพิ่มเติม: เราควรจ่ายค่าเบี้ยประกัน (เบี้ยประกันชีวิต) ปีละเท่าไร)

2. วงเงินคุ้มครอง
การเจ็บป่วยคือสิ่งที่คาดเดายาก คุณจึงต้องคิดถึงกรณีร้ายเเรงที่สุดเพื่อคาดการณ์ได้ว่า ประกันสุขภาพต้องมีเงินคุ้มครองเท่าไหร่ ถึงจะครอบคลุมค่ารักษาของคุณทั้งหมด เพราะถึงแม้คุณจะมีประกันสุขภาพ เเต่ถ้าค่ารักษาทั้งหมดของคุณไม่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น คุณก็ต้องจ่ายส่วนต่างตรงนี้ เช่น ค่ารักษาทั้งหมดของคุณคือ 150,000 เเต่ประกันคุ้มครองคุณ 50,000 แสดงว่าอีกหนึ่งเเสนคุณต้องจ่ายเอง ซึ่งเรื่องไม่คาดคิดเหล่านี้อาจจะสามารถทำให้การเงินของคุณสะดุดได้ ฉะนั้นเมื่อคุณเลือกที่จะซื้อประกันสุขภาพควรมีเงินคุ้มครองที่สูงจนคุณไม่ต้องเสียเงินอีก

3. ความเสี่ยง
ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงเรื่องสุขภาพส่วนตัว กรรมพันธุ์ หรือโรคประจำตัว เนื่องจากประกันเเต่ละบริษัทครอบคลุมไม่เหมือนกัน

เมื่อคุณประเมินความเสี่ยงตนเองว่าสามารถเกิดโรคอะไรขึ้นได้บ้าง จะยิ่งทำให้คุณเลือกซื้อประกันที่เหมาะสม เช่น ที่บ้านมีกรรมพันธุ์โรคหัวใจ เเสดงว่าคุณมีความเสี่ยง คุณจึงต้องเลือกประกันสุขภาพที่ครอบคลุมถึงโรคหัวใจ เพราะถ้าไม่ครอบคลุม บริษัทประกันไม่สามารถจ่ายค่ารักษาเเละเงินชดเชยให้คุณได้เพราะนอกเหนือกรมธรรม์ที่คุณได้ทำไว้ กลายเป็นว่าคุณซื้อประกันสุขภาพที่ไม่คุ้มครองสุขภาพของคุณจริงๆ

4. การคุ้มครอง
การเจ็บป่วยเเต่ละครั้งทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมากมาย เช่น ค่าห้องรักษา ค่าผ่าตัด ค่าใช้จ่ายตลอดการพักฟื้นของคุณ หรือการเจ็บป่วยธรรมดาที่ไม่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือเป็นเเค่การรักษาตัวในคลินิก คุณจึงต้องเลือกประกันสุขภาพที่ครอบคลุมทั้งผู้ป่วยใน (IPD) ที่รักษาที่โรงพยาบาล (อย่างน้อย 6 ชั่วโมง) เเละผู้ป่วยนอกที่ไม่ได้นอนพักฟื้นในโรงพยาบาล (OPD) จะได้ครอบคลุมตั้งเเต่ป่วยเล็กน้อยจนถึงโรคร้ายเเรง ทั้งนี้ในปัจจุบันยังมีทางเลือกความคุ้มครองสุขภาพแบบเหมาจ่ายไม่จำกัดค่ารักษาพยาบาลต่อรายการอีกด้วย
5. กระเเสเงินสดของตนเอง
เมื่อคุณได้ซื้อประกันสุขภาพเรียบร้อย คุณต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันตามสัญญา ฉะนั้นเงินค่าเบี้ยประกันที่คุณต้องจ่ายทุกเดือน/ปี ควรเป็นเงินที่ไม่เดือดร้อนกับค่าใช้จ่ายหลักของคุณ เพราะประกันสุขภาพเหมือนเป็นการซื้อความอุ่นใจด้านสุขภาพในอนาคต จึงไม่ควรส่งผลกระทบต่อเงินในปัจจุบัน
6. โรงพยาบาลที่สามารถรักษาได้
การรักษาภายใต้ประกันสุขภาพส่วนใหญ่ จะกำหนดเครือโรงพยาบาลมาให้ ซึ่งบางครั้งการเจ็บป่วยอาจไม่ได้เกิดขึ้นในละแวกพื้นที่โรงพยาบาลในเครือข่ายเสมอไป เช่น เจ็บป่วยตอนไปต่างจังหวัด คุณจึงควรเลือกประกันสุขภาพที่ให้คุณรักษาที่โรงพยาบาลได้หลากหลาย จะได้ครอบคลุมความเสี่ยงด้านสุขภาพทุกพื้นที่