Tag Archives: สะเก็ดเงิน

ความรู้ทางการแพทย์ของโรคสะเก็ดเงินยังไม่ที่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่เกิดจากเซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ เกิดการหนาตัวของชั้นหนังกำพร้า ทำให้เกิดเป็นปื้นนูนแดง ปกคลุมด้วยสะเก็ดสีเทาเงิน ถ้าแกะหรือเกาจะทำให้สะเก็ดหนามากขึ้น โรคสะเก็ดเงิน พบได้ประมาณร้อยละ 2 ของประชากรทั่วไป พบว่าคนผิวดำเป็นโรคนี้น้อยกว่าคนผิวขาว ชายและหญิงพบได้ในอัตราพอๆกัน พบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในสองช่วงอายุ 16-25 ปี และ 55-65 ปี ร้อยละ 10-15 ของผู้ป่วยใหม่เป็นเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 10 ปี ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วย มักจะมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย แต่ถ้าเกิดเป็นโรคในเด็ก จะพบว่ามีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้มากถึงร้อยละ 70
สาเหตุของโรค สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด
1. ปัจจัยทางพันธุกรรมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคสะเก็ดเงินอย่างมาก จากการศึกษายีนที่เกี่ยวข้อง พบว่ายีนที่สำคัญที่สุดชื่อ psoriasis susceptibility 1 (PSORS1) ซึ่งอยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 6 โดยพบมากถึงร้อยละห้าสิบของผู้ป่วยทั้งหมด ล่าสุดพบยีนที่สำคัญเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคสะเก็ดเงินอีกชนิดหนึ่งอยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 17 มีชื่อว่า runt-related transcription factor 1 (RUNX1)
2. จากการศึกษาพบว่าเซลล์ผิวหนังตรงบริเวณที่เป็นโรคมีการแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ และเคลื่อนตัวจากชั้นใต้ผิวหนังมาที่ผิวนอกในเวลาประมาณ 4 วัน ซึ่งในคนปกติจะใช้เวลาประมาณ 26 วัน ทำให้ผิวหนังเกิดการหนาตัวขึ้นเป็นปื้น
3. ในขณะเดียวกันเซลล์ผิวหนังขาดแรงยึดเหนี่ยวตามปกติ ทำให้สารเคอราตินบนชั้นนอกสุดของผิวหนังหลุดลอกออกเป็นแผ่นๆได้ง่าย
4. ปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบเชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T cell ทำหน้าที่เพิ่มขึ้นที่ผิวหนังและกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ

อาการของโรคสะเก็ดเงิน

อาการผู้ป่วยจะมีความผิดปกติเกิดขึ้นที่ผิวหนังส่วนศีรษะ เล็บ ผิวหนังส่วนที่เป็นปุ่มนูนของกระดูก เช่น ข้อศอก ข้อเข่า ก้นกบ หน้าแข้ง รอยโรคบริเวณหนังศีรษะพบมากถึงร้อยละ 50 ของผู้ป่วยทั้งหมด ผิวหนัง ตอนเริ่มกำเริบใหม่ๆ จะเป็นตุ่มแดง ขอบเขตชัดเจนและมีขุยสีขาวสีเงินอยู่ที่ผิว ต่อมาตุ่มจะค่อยๆขยายออกจนกลายเป็นปื้นใหญ่ๆ หนา และขุยสีขาวที่ผิวจะหนาตัวขึ้น เห็นเป็นเกล็ดสีเงิน ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเรียกว่าโรคเกล็ดเงิน หรือสะเก็ดเงิน

แนวทางในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด การรักษาต้องวางแผนระยะยาวและรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกำเริบของโรค และผลข้างเคียงจากยา โดยทั่วไปหลักการรักษาโรคสะเก็ดเงินขึ้นกับความรุนแรงของโรค ร้อยละ 70-80 ของผู้ป่วยสามารถให้การรักษาได้ด้วยยาทา
1. ถ้าเป็นน้อย ๆ การใช้ยาทาก็เพียงพอ แต่พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรค เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล การแกะเกา และแสงแดด ในปัจจุบันมียาทาที่ได้ผลดีในการรักษาเป็นจำนวนมากให้เลือกใช้ ได้แก่ ยาทาพวกสเตียรอยด์ น้ำมันดิน สารพวกแอนทราลิน และวิตามินดี 3
2. ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรงอาจต้องใช้ยารับประทานร่วมด้วย ซึ่งยาเหล่านี้มีผลข้างเคียง ไม่ควรซื้อยามาทาหรือรับประทานเอง ถ้าเป็นมากๆ ควรต้องปรึกษาแพทย์ เพราะอาจต้องทานยาและรักษาโดยการให้อาบแสงอุลตราไวโอเล็ตร่วมด้วย
3. สำหรับรอยโรคที่หนังศีรษะ แพทย์จะให้ผู้ป่วยสระผมด้วยแชมพูที่มีส่วนผสมของน้ำมันดิน
4. สำหรับรอยโรคที่เล็บหรือรอยปื้นหนาที่ผิวหนังที่ดื้อต่อยาทา แพทย์อาจใช้วิธีฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปในบริเวณรอยโรค
5. คำแนะนำในการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ควรทาครีมบำรุงผิวเป็นประจำทุกวัน เพื่อลดอาการผิวแห้ง ใช้สบู่อ่อน ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการระคายเคืองของผิวหนังซึ่งจะทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในการทำความสะอาด เพราะโรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ อาหารไม่มีผลต่อโรคนี้ การดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้โรคกำเริบได้